ท้องถิ่น
คำว่า" ท้องถิ่น " ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2546:511) ให้ความหมายไว้ว่า ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งเน้นถึงลักษณะทางสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และทางธรรมชาติ ที่มีความเป็นขอบเขตเฉพาะพื้นที่นั้นๆ เป็นสำคัญและยังมีความหมายที่กำหนดขอบเขตของพื้นที่ระดับย่อยตามเขตการปกครอง หรือเป็นหน่วยงานระดับรองไปจากหน่วยงานใหญ่ ได้แก่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นต้น คำว่า ท้องถิ่น จึงขึ้นอยู่กับการจำกัดขอบเขตทางพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และเมื่อนำไปใช้ประกอบกับคำใด จะให้ความหมายเฉพาะเจาะจงในเรื่องนั้น เช่น ประเพณีท้องถิ่น พืชประจำท้องถิ่น เป็นต้น
เอกรินทร์ สีมหาศาลและปรีชา นุ่มสุข ( 2540: 2 ) กล่าวว่า " ท้องถิ่น " หมายถึง การกำหนดขอบเขตพื้นที่ ขอบเขตความรับผิดชอบหรือหน่วยงานที่ปรากฎในท้องถิ่นต่าง ๆ ตามสภาพสังคม ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ระดับย่อยรองไปจากสังคมใหญ่
สรุปได้ว่า "ท้องถิ่น " หมายถึงถิ่นฐานที่อยู่ของมนุษย์ที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มหรือหน่วยของพื้นที่ย่อยลงมา ตั้งแต่บ้าน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เทศบาล จังหวัด ในทำนองเดียวกัน
ถ้าจะกล่าวถึงท้องถิ่นในลักษณะ ที่เป็นขอบเขตชุมชนใดชุมชนหนึ่งสิ่งที่เราควร
พิจารณาก็คือ สภาพของท้องถิ่นนั้นเป็นอย่างไร มีความเจริญก้าวหน้าหรือหล้าหลังเพียงใด ภาวะการครองชีพของผู้คนในชุมชนเป็นเช่นใด ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบพื้นฐานเฉพาะชุมชนนั้นๆ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม สภาพเศรษฐกิจ และลักษณะของ
การเมือง การปกครอง การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมรวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มจะพัฒนาจากประเทศเกษตรกรรม
ไปสู่อุตสาหกรรมให้มากขึ้น แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องเตรียมประชากรของประเทศและท้องถิ่น พร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดำเนินชีวิตได้อย่างสงบสุข
ความหมายของท้องถิ่น
คำว่า “ท้องถิ่น” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งโดยเฉพาะ” ดังนั้น อาจจะมีความหมายกว้างหรือแคบก็ได้ ท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่นั้น จะมีที่ตั้งอาณาเขตและขนาดการปกครองที่เรียกว่า หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด หากเราจะบอกว่าเราเป็นคนท้องถิ่นใด อาจจะได้จากการตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบล อำเภอ จังหวัด หรือภาคใด เช่น นายทวีศักดิ์ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 25 ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ดังนั้นท้องถิ่นของนายทวีศักดิ์ ก็คือ ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ลักษณะของสังคมในท้องถิ่น
ในแต่ละท้องถิ่นเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วยครอบครัวหลายๆ ครอบครัวมากน้อยแตกต่างกันไป มีลักษณะการดำเนินชีวิต และขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ดังนั้นลักษณะสังคมในแต่ละท้องถิ่น ย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งเราอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. สังคมชนบท
2. สังคมเมือง
สังคมชนบท ได้แก่ ชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่น้อยหรือเบาบาง มีลักษณะรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ
โครงสร้างของสังคมชนบท มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีลักษณะการตั้งถิ่นฐาน อยู่อย่างกระจัดกระจาย มีอัตราความหนาแน่นต่ำ
ครอบครัวส่วนมากเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม
2. การศึกษา ประชากรในชนบทโดยทั่วไปมีการศึกษาค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่เป็น
การศึกษาภาคบังคับ
3. เศรษฐกิจ สังคมชนบทส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม มีอาชีพการทำนา
ทำสวน ทำไร่ ประมงและการหาของป่า มีลักษณะพึ่งตนเองได้
4. การเมืองการปกครอง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย เพราะมีความรู้สึก
ว่าเรื่องราวทางการเมืองไม่มีความเกี่ยวข้องกับตนเอง
5. วัฒนธรรมประเพณี และศาสนา ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
มีความศรัทธาในศาสนาสูง เคร่งครัดในระเบียบประเพณี
สังคมเมือง ได้แก่ ชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่มาก หรือหนาแน่น
โครงสร้างของสังคมเมือง มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีลักษณะการตั้งถิ่นฐาน อยู่อย่างหนาแน่น มีอัตราความหนาแน่นสูง ลักษณะ
ครอบครัวเป็นแบบครอบครัวเดียว เป็นครอบครัวขนาดเล็ก
2. การศึกษา สังคมเมืองเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา มีสถานศึกษาในทุกระดับชั้นทั้งของรัฐและเอกชน ทำให้ประชากรในเขตเมืองมีระดับการศึกษาสูง
3. เศรษฐกิจ ชาวเมืองส่วนใหญ่มีรายได้และรายจ่ายสูง มีอาชีพต่างๆ ส่วนใหญ
เป็นการค้า อุตสาหกรรมและบริการต่างๆ
4. การเมืองการปกครอง สังคมเมืองเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองของ
ประเทศ ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมาก
5. วัฒนธรรมประเพณี และศาสนา มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ตามกระแสการ
เปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ความศรัทธาในศาสนาและความเคร่งครัดในระเบียบประเพณีไม่สูงนัก เพราะสังคมเมืองมีความเจริญทางด้านวัตถุและวิชาการตามหลักความมีเหตุผลและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาก
ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท
ไม่ว่าประชากรจะอยู่ในสังคมเมืองหรือสังคมชนบทก็ตาม สังคมทั้งสองก็ย่อมที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เช่น สังคมเมืองย่อมได้รับผลิตผลทางด้านเกษตรกรรมจากสังคมชนบท เพื่อการบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม แลได้แรงงาน หรือทรัพยากรธรรมชาติ จากสังคมชนบท
ส่วนสังคมชนบทก็ต้องพึ่งพาสังคมเมือง ในด้านการตลาดเพื่อขายสินค้าและพืชผลทางการเกษตร ได้รับความรู้และวิทยาการสมัยใหม่จากสังคมเมือง ได้รับเครื่องอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น พัดลม ตู้เย็น เครื่องทุ่นแรงต่างๆ ตลอดจนยวดยานพาหนะ
ความสำคัญของการศึกษาท้องถิ่น
ปัจจุบันมีการตื่นตัวในการจัดการศึกษา เกี่ยวกับท้องถิ่นกันอย่างกว้างขวาง การศึกษาดังกล่าวมุ่งที่จะศึกษาพื้นที่หรืออาณาเขตที่อยู่ใกล้ตัวผู้เรียนเป็นหลัก ต้องการให้ผู้คนได้เรียนรู้ เพื่อเข้าใจสภาพท้องถิ่นของตนเอง เรียนรู้และศึกษาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ตลอดจนการฝึกฝนให้มีพฤติกรรมที่เป็นพื้นฐานของการเรียนภาคปฏิบัติ อันจะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้ ดังนั้น ความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นที่ผู้เรียนอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในการจัดสอนเพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงที่ตนเผชิญอยู่นั้นว่าเป็นอย่างไร ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจะช่วยให้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงสภาพของตนเองให้เข้ากับปัญหาได้ การมีโอกาสเรียนรู้ท้องถิ่นของตนเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ที่จะช่วยให้รู้จักตนเอง และสภาพสังคมที่เกี่ยวข้องในการรู้จักท้องถิ่น ถ้ามองให้ถึงแก่นของเนื้อหาจะเรียนถึงผู้คนของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีชีวิต และความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทุกด้านในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นในท้องถิ่นนั้นเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหน้าที่ และบทบาทของตนเองที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ในท้องถิ่น อันจะช่วยให้รู้จักประโยชน์ เกิดความตระหนัก และหาทางแก้ไขปัญหาอันจะเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ภายในท้องถิ่นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
วิธีการศึกษาท้องถิ่น จะใช้วิธีการอ่านหนังสือหรือจดตามคำสอนซึ่งมักจะไม่ได้ผลเต็มที่ แต่ถ้ามีโอกาสได้เรียนรู้สภาพการณ์ทุกด้านในท้องถิ่นด้วยตนเองโดยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. การสำรวจ สังเกตและการจดบันทึก การศึกษาข้อมูลในท้องถิ่นนั้นนักเรียนต้องสังเกตสิ่งต่าง ๆที่พบเห็นและบันทึกรายละเอียดของสิ่งที่สังเกตได้ โดยมีเครื่องมือประกอบการสำรวจในลักษณะของข้อความ แผนผัง หรือแผนที่ บางครั้งต้องคาดคะเนกับขนาดหรือรูปทรง
2. การรวบรวมข้อมูล รวมทั้งการตีความและแปลความอย่างมีเหตุผล สิ่งที่สำรวจ สังเกต หรือจดบันทึกมาได้นั้น
3. รู้จักแก้ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุง พฤติกรรมสำคัญของผู้เรียนท้องถิ่น อีกประการหนึ่งคือการรู้จักแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นวิธีการเบื้องต้นที่ผู้เรียนวิชาท้องถิ่นจะต้องกระทำ เพื่อใช้ในการศึกษาสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในท้องถิ่น ช่วยให้เกิดความเข้าใจในการศึกษาท้องถิ่นโดยตรง และยังสามารถนำไปใช้ได้กับทุกกรณีที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้เรียนด้วยสามารถนำความรู้และวิธีการที่ได้รับไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ อันจะช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดี ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าแก่ท้องถิ่นของตนเองในโอกาสต่อไป
แหล่งเรียนรู้ คือ สถานที่ ปรากฏการณ์ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ความคิดเห็น ความรู้สึกของบุคคล ซึ่งอาจมีการถ่ายทอดหรือบันทึกไว้ในหนังสือต่างๆ เช่น หนังสือเรียน ตำรา หรือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
สรุป
การศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวและมีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตในปัจจุบันนั้น นับว่ามีความสำคัญและความจำเป็นที่ควรมีการเรียนรู้อย่างมาก เพราะจะช่วยให้เข้าใจในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งที่ผ่านมาและที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต้องร่วมมือกันดูแล เพื่อให้ท้องถิ่นที่ตนอาศัยมีความเจริญก้าวหน้าและเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง การศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารและการไปศึกษาในแหล่งเรียนรู้ จะก่อให้เกิดความเข้าใจในคุณค่าและความสำคัญในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความเจริญเก่าแก่มาในอดีต มีประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ และมีคุณค่ามากมายที่ดำรงความสำคัญมาตั้งแต่อดีตที่ยาวนาน จนถึงปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น