เขียนโดย นายบุญจันทร์ พินิจ ตำแหน่ง ราษฎรเต็มขั้น
กฏกติกา มารยาทของสังคม
แยกเป็น 3 ชนิด คือ กฏกติกามารยาทที่ชาวชุมชนตำบลหนองงูเหลือมทำต่อผู้ปกครองบ้านปกครองเมืองของตน กับกฏกติกามารยาทที่ชาวชุมชนตำบลหนองูเหลือมทำต่อชาวชุมชนตำบลหนองงูเหลือมด้วยกันเอง และกฏกติกามารยาทปฏิบัติของพระสงฆ์ ดังต่อไปนี้
1) กฏกติกามารยาทสำหรับผู้ปกครองชุมชน
(1) แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริต เคารพยำเกรง ขยันหมั่นเพียร
(2) หมั่นประชุม ช่วยกันบริหารชุมชนให้เจริญรุ่งเรือง
(3) ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม 10 ประการ คือ
1) ทาน บริจาคทานแก่สมณพราหมณาจารย์ ยาจก คนอนาถา
2) ศีล ดำรงมั่นในปัญจศีล อุโบสถศีล เป็นเนืองนิจ
3) บริจาค สละทรัพย์สร้างวัดวาอาราม
4) อาชวะ มีใจเที่ยงตรง ดำรงมั่นในศีลธรรม
5) มัททวะ อ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง
6) ตบะ ชำระความชั่วออกจากจิตใจ
7) อักโกธะ ไม่ดุร้าย
8) อหิงสา ไม่เบียดเบียน
9)ขันติ อดทนต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ
10) อวิโรธนะ ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งที่ควรยินดียินร้าย
พรั่งพร้อมไปด้วยดังนี้
หูเมือง มีทูตานุทูตผู้ฉลาดมีปัญญาดี
ตาเมือง มีนักปราชญ์สอนอรรถสอนธรรม
แก่นเมือง มีพระสงฆ์ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย
ประตูเมือง มีอาวุธทโธปกรณ์ป้องกันอิริราชศัตรู
ฮากเมือง มีหูราทราบเหตุร้ายและดี
เหง้าเมือง มีเสนาอำมาตย์ผู้เที่ยงธรรม
ขื่อเมือง มีโยธาทหารผู้แกล้วกล้า
ฝาเมือง มีตากวนตาแสงผู้ซื่อสัตย์
ขาง (แป) เมือง มีเจ้านายตั้งอยู่ในศีลธรรม
เขตเมือง มีผู้ฉลาดรู้พื้นที่ที่ตั้งเมือง
สติเมือง มีคหบดีเศรษฐีและทวยค้า
ใจเมือง มีแพทย์ผู้ฉลาดเชี่ยวชาญ
ค่าเมือง มีภูมิภาคดี มีราคาค่างวด
เมฆเมือง มีเทวดาอารักษ์หลักเมือง
2) กฏกติกามารยาทสำหรับชาวตำบลหนองงูเหลือม
กฏกติกามารยาทแบบนี้ เป็นกฏกติกามารยาทที่ชาวชุมชนตำบลหนองงูเหลือมจะทำต่อชาวชุมชนตำบลหนองงูเหลือมด้วยกัน มี14ประการ คือ
(1) เมื่อได้ข้าวใหม่ หรือผลหมากรากไม้ใหม่ ให้บริจาคทานแด่ท่านผู้มีศีล แล้วตนเองจึงบริโภค และให้แจกแบ่งแก่ญาติพี่น้องด้วย
(2) อย่าโลมล่ายตาชิงตายอย อย่าจ่ายเงินแดง อย่าแปลงเงินกว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบช้ากล้าแข็งต่อกัน
(3) ให้สร้างบ้านหรือกำแพงเรือนของตน แล้วปลูกหอบูชาเทวดาไว้ในสี่มุมบ้านหรือมุมเรือน
(4) ให้ล้างตีนก่อนขึ้นเรือน
(5) ถึงวันศีล 7-8 ค่ำ ให้ขอขมา (สมมา) ก้อนเส้า แม่อัคคีไฟ แม่บันใด ประตูเฮือนที่ตนอยู่อาศัย
(6) ให้ล้างตีนก่อนจะนอนในเวลากลางคืน
(7) ถึงวันศีล เมียให้เอาดอกไม้ธูปเทียนขอขมาผัว และให้เอาดอกไม้ธูปทียนไปถวายพระสงฆ์เจ้า
(8) ถึงวันศีลดับ ศีลเพ็ง ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เรือน แล้วทำบุญใส่บาตร
(9) เมื่อภิกษุมาบิณฑบาต อย่าให้ท่านคอย เวลาใส่บาตรอย่าถูกบาตร อย่าถูกพระภิกษุสามเณร เวลาใส่บาตรอย่าใส่รองเท้า อย่างกั้นร่ม อย่าเอาผ้าพันหัวหัว อย่าอุ้มลูกจูงหลาน อย่าถือศัตราอาวุธต่างๆ
(10) เมื่อภิกษุเข้าปริวาสกรรม ให้มีขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องอัฐบริขารไปถวายท่าน
(11) เมื่อเห็นพระภิกษุสงฆ์ผ่านมา ให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงค่อยเจรจา
(12) อย่าเหยียบเงาของพระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์
(13) อย่าเอาอาหารที่เป็นเดนให้แก่พระสงฆ์เจ้า และอย่าเอาอาหารที่เป็นเดนให้ผัวตนกิน
(14) อย่าเสพกามคุณในวันศีล วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมหาสงกรานต์ และวันเกิดของตน
3) กฏกติกามารยาทสำหรับพระสงฆ์
กฏกติกามารยาทแบบนี้ เป็นกฏกติกามารยาทที่มีขึ้นเพื่อเตือนสติให้พระสงฆ์ปฏิบัติถูกต้องตามทำนองคลองธรรม มี14 ประการ คือ
(1) ให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมำสอนของพระพุทธศาสนา และรักษาศีล 227 อย่าให้ขาดและด่างพร้อย
(2) ให้ดูแลกุฏิวิหาร ปัดกวาดเช็ดถูอย่าให้วัดเศร้าหมอง
(3) ให้ปฏิบัติจัดทำไปตามศรัทธา เมื่อชาวบ้านนิมนต์มีการทำบุญให้ทาน
(4) ครั้นถึงเดือนแปดให้เข้าพรรษาตลอดสามเดือน จนถึงแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด จนถึงขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสิบสอง ให้รัยผ้ากฐินและให้ครองผ้ากฐินจนครบสี่เดือน
(5) ฤดูหนาวออกพรรษาแล้ว ภิกษุสงฆ์ต้องเข้าอยู่ปริวาสกรรม
(6) ให้เที่ยวบิณฑบาตรทุกวัน อย่าให้ขาด
(7) ให้สวดมนต์ ทำวัตร เจริญสมาธิภาวนาทุกคืน อย่าขาด
(8) ถึงวันศีลดับ ศีลเพ็ง ให้ให้ประชุมกันลงอุโบสถสังฆรรมอย่าให้ขาด
(9) พอถึงปีใหม่ ให้นำน้ำไปสรงพระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์
(10) พอถึงศักราชปีใหม่ พระเจ้าแผ่นดินให้ไหว้พระ สรงน้ำในพระราชวังและทำพิธีบายศรีพระ
(11) ชาวบ้านศรัทธานิมนต์สิ่งใด ถ้าไม่ผิดพระธรรมวินัยก็ให้ปฏิบัติตาม
(12) เป็นพระให้พากันสร้างวัดวาอาราม พระธาตุเจดีย์
(13) ให้รับทานของทายก คือ สังฆภตร สลากภัตร เป็นต้น
(14) พระมหากษัตริย์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีศรัทธานิมนต์ให้ประชุมกันในอุโบสถแห่งใดแห่งหนึ่งในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ถืเป็นงานใหญ่ อย่าขาด
สิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้
งานช่างของชาวตำบลหนองงูเหลือมโดยส่วนใหญ่เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผลิตเพื่อใช้สอยภายในครัวเรือน ใช้วิธีการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญมากกว่าการเรียนรู้ตามทฤษฎี ลักษณะผลงานแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ วิธีการผลิตมักจะเป็นไปตามธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่นไม้ไผ่ กก ฝ้าย และไม้เนื้อแข็งชนิดต่างๆ ฝีมือในงานช่างมีความเรียบง่ายและมีความประสานกลมกลืน ทำให้เกิดความงามที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากสินค้าอุตสาหกรรม หัตถกรรมพื้นบ้านที่ผลิตกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ผ้าทอ งานจักสานลายและไม้ไผ่ เป้นต้น
จบ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น