วัฒนธรรม
คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม ศาสนาจัดว่า เป็นวัฒนธรรมทางนามธรรมที่มีผลกับวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยผ่านความเชื่อ ความเกรงกลัว ต้องการความมั่น คงทางจิตใจ ศาสนาและความเชื่อจึงทำให้เกิดวัฒนธรรมในสังคม ศาสนาและความเชื่อที่มีอิทธิพลกับวัฒนธรรมของชาวตำบลหนองงูเหลือม คือ ศาสนาพุทธและพราหมณ์ ซึ่งมีการผสมผสานกันอยู่ตั้งแต่อดีต จนกลายเป็นวัฒนธรรมทางศาสนาที่สามารถควบคุมพฤติกรรมของคนในชุมชนตำบลหนองงูเหลือมได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างการผสมผสาน เช่น ความเชื่อเรื่องผีและอำนาจลึกลับ เช่น ผี เทวดา เทพต่างๆ ทางศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเรื่องผีแถน ผีเจ้าป่า เจ้าปู่ตา ผีบรรพบุรุษ ผีเรือน ของชาวพุทธ เป็นต้น การเชื่อเรื่องผีเหล่านี้ ทำให้เกิดวัฒนธรรมชุมชนตำบลหนองงูเหลือม เช่น การไหว้ปู่ตา การไหว้ผีตาแฮกของชาวหนองงูเหลือม ความเชื่อเรื่องผีมีทั้งผีดี และผีร้าย จึงมีการสร้างวัฒนธรรมโดยผ่านเรื่องของผีมากมาย วัฒนธรรมความเชื่อเหล่านี้ทำให้เกิดประเพณี พิธีกรรมการปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน
ประเพณีพิธีกรรม
คือ กฎเกณฑ์หรือการควบคุมทางสังคม ที่ทำหน้าที่ชี้นำและควบคุมพฤติกรรมของผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน มีรากเหง้าเดียวกัน ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีสัมพันธ์ภาพที่ดีและสมศักดิ์ศรีความเป็นคน ศาสนาดั้งเดิมของชาวหนองงูเหลือมคือความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ เมื่อศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้ จึงผสมกลมกลืนเป็นศาสนา ชาวบ้านในชุมชนตำบลหนองงูเหลือมมีความเชื่อถือทั้งผี พราหมณ์ พุทธ ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาโดย เรียกว่า ประเพณีการทำบุญ
ประเพณีของชาวตำบลหนองงูเหลือมมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ที่แบ่งชัดเจนที่สุดก็คือ เรื่องของภาษา การแต่งกาย รวมถึงโครงสร้างร่างกาย แต่ในด้านของประเพณี พิธีกรรม ชาวหนองงูเหลือมยังคงมีความคล้ายคลึงกัน เพราะมีประเพณีวัฒนธรรมที่ถือสืบทอด
กันมาตั้งแต่อดีต คือ ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของชาวหนองงูเหลือม
ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต ซึIงหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีที่ประชาชนในชุมชนตำบลหนองงูเหลือมปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ประเพณีในฮีตสิบสองมีดังนี้
เดือนอ้าย (เดือน1) บุญเข้ากรรม เลี้ยงพระ เนื่องในพิธี ที่พระสงฆ์ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส มาขอแสดงอาบัติของตนแก่ที่ประชุมสงฆ์
เดือนยี่(เดือน2) บุญคูนลาน เป็นบุญหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อความเป็นศิริมงคล โดยการประพรมน้ำพุทธมนต์ยุ้งฉางลานข้าว ทำขวัญข้าว เก็บฟืนไว้ใช้
เดือน 3 บุญข้าวจี่ ถวายอาหารพระที่วัด ฟังเทศน์ ฟังธรรมมีการนำข้าวจี่ไปถวายพระ
เดือน 4 บุญพระเวส เป็นการเลี้ยงพระและฟังเทศน์มหาชาติ มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ แห่กัณฑ์หลอน แห่ข้าวพันก้อน เทศน์ มาลัยหมื่น มาลัยแสน อ่านสังกาศเทศน์มหาชาติ
เดือน 5 บุญสงกรานต์ ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียน ไปวัด เลี้ยงภัตตาหารพระสงฆ์ ฟังเทศน์ มีบายศรีสู่ขวัญ เอาน้ำหอมผสมขมิ้นรดสรงแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ที่เคารพนับถือ
เดือน 6 บุญบั้งไฟ ทำพิธีส่งบั้งไฟไปขอฝนจากพญาแถน เป็นการทำบุญเลี้ยงพระก่อนหน้าการทำนา แห่บั้งไฟเป็นการรื่นเริงสนุกสนาน
เดือน 7 บุญซำฮะ เป็นการทำบุญเพื่อล้างสิ่งชั่วร้าย เช่น ผีบ้านเรือน หลักเมืองเพื่อความเป็นศิริมงคลของปี นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เย็นและตอนเช้ามีการเลี้ยงพระ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ทำความสะอาดบ้าน เช่น ผีประจำหมู่บ้าน ผีปู่ย่า ตายาย ผีไร่นา ผีหลักเมือง
เดือน 8 บุญเข้าพรรษา เอาข้าวตอกดอกไม้ ขี้ผึ้ง ธูปเทียนไปรวมกันที่วัด ฟังเทศน์ หล่อเทียนพรรษาถวายวัด ถวายปัจจัย เช่น ข้าวสาร อาหารแห้งน้ำมันแก่พระเพื่อใช้ในพรรษา
เดือน 9 บุญข้าวประดับดิน เลี้ยงภัตตาหารสงฆ์ ทำบังสุกุลส่งบุญไปให้ผู้ตายฟังสวดพาหุง อาหารเซ่นผีไปวางตามพื้นดิน ตามป่า เพื่อผีไม่มีญาติจะได้กิน
เดือน 10 บุญข้าวสาก เป็นการถวายสลากภัตรแก่พระสงฆ์ พระเณรรูปใดจับสลากได้ของ ผู้ ใดผู้นั้นถวายสิ่งของแก่พระสงฆ์ และเอาอาหารสำหรับเปรตไปแขวนไว้ตามต้นไม้ ถวายผ้าอาบน้ำ
เดือน 11 บุญออกพรรษา ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ มีพิธีถวายปราสาทผึ้ง ไหลเรือไฟ (คล้ายลอยกระทงของภาคกลาง) ตักบาตรเทโว
เดือน 12 บุญกฐิน ถือว่าเป็นบุญที่ให้กุศลแรง ถวายผ้ากฐิน
**************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น